วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

อรุณธตี รอย (ปฏิทินวรรณกรรม)





อรุณธตี รอย

ศิริธาดา กองภา
คอลัมน์ปฏิทินวรรณกรรม นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 พ.ย. 2550

ซูซานนา อรุณธตี รอย (Susanna Arundhati Roy) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพชาวอินเดีย เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ณ เมืองเมฆาลัย มารดาของเธอ แมรี่ รอย (Mary Roy) เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ชาวคริสต์นิกายซีเรียแห่งเมืองเคราลา ส่วนบิดาเป็นเจ้าของไร่ชาชาวเบงกาลีและนับถือศาสนาฮินดู

วัยเด็กรอยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองอเยเมเน็ม แคล้นเคราลา เข้าเรียนที่โรงเรียนคอร์ปุส คริสตี้ ในเมืองโกฐตะยัม และจบระดับอุดมศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ School of Planning and Architecture เมืองนิวเดลี เธอพบกัลสามีคนแรกซึ่งเป็นสถาปนิกที่วิทยาลัยแห่งนี้ แต่ทั้งคู่ก็ต้องหย่าร้างกันอีกไม่กี่ปีต่อมา ในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ รอยแต่งงานกับพราดิพ คริสเซ่น (Pradip Krishen) ผู้กำกับภาพยนตร์ เธอได้รับอิทธิพลจากสามีและหันมาสนใจงานในแวดวงจอเงินโดยแสดงภาพยนตร์และเขียนบทภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง

ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ รอยเริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก The God of Small Things (เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ –ฉบับภาษาไทย แปลโดย สดใส – สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก) ที่สะท้อนความขัดแย้ง ความศรัทธา ค่านิยม ขนบธรรมเนียม และสภาพสังคมอินเดียหลังยุคอาณานิคม โดยใช้เวลาเขียน ๔ ปี หลังจากนวนิยายตีพิมพ์และได้รับรางวัล  Man Booker Prize ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญของอังกฤษ ชื่อ อรุณธตี รอย ก็กลายเป็นดาวจรัสแสงแห่งแวดวงวรรณกรรมในชั่วข้ามคืน ผลงานของเธอแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า ๓๐ ภาษา เรียกเสียงฮือฮาจากนักอ่านและนักวิจารณ์ทั่วโลก ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่ลึกซึ้ง คมคาย เต็มไปด้วยสัญลักษณ์และอุปมา ราวกับสถาปนิกผู้บรรจงปั้นแต่งถ้อยคำ

หลังจากโด่งดังเป็นพลุแตกจากนวนิยายเรื่องแรก รอยหันหลังให้โลกวรรณกรรม ไม่สนใจชื่อเสียงเงินทองที่กำลังดาหน้าเข้ามา กระโจนใส่บทบาทของนักเคลื่อนไหวและวิพากษ์สังคม การเมือง ต่อสู้กับความไม่เสมอภาคในสังคมอินเดีย เช่น สนับสนุนนโยบายยุติการใช้ความรุนแรง จับ “ปากกา” เขียนบทความต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ บทบาทนักเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลให้รอยได้รับรางวัลด้านสิทธิเสรีภาพจากหลายสถาบัน อาทิ Lannan Foundation’s Cultural Freedom Award (2002), Sydney Peace Prize (2004), Sahitya Akademi Award (2006)

ปัจจุบันรอยยังเขียนบทความวิพากษ์สังคม การเมือง และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีผู้ยกย่องสรรเสริญ ก็ย่อมมีผู้ติฉินสาปแช่งเช่นกัน ทว่านักเขียนชาวอินเดียผู้นี้ไม่เคยหวาดหวั่น เธอกล่าวว่ายิ่งมีอุปสรรคเท่าไหร่ เธอก็แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น และเมื่อต้นปี ค.ศ. ๒๐๐๗ ที่ผ่านมา รอยก็ประกาศว่าเธอกำลังเขียนนวนิยายเรื่องที่ ๒ ซึ่งคงต้องคอยจับตาดูว่า นวนิยายเรื่องต่อไปจะสั่นสะเทือนแวดวงวรรณกรรมและผู้อ่านทั่วโลกได้อีกครั้งหรือไม่ .

......................................



โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก ได้ตีพิมพ์หนังสือ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๐ และได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี จนมีโอกาสตีพิมพ์ครั้งที่ ๔ ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕  
เพื่อแบ่งปันการตอบรับ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ อย่างอบอุ่นให้นักอ่านได้หวนนึกถึงและบอกต่อกันอีกครั้ง จึงขอนำบทความ บทวิจารณ์ มาเผยแพร่ในโอกาสนี้

ด้วยมิตรภาพ
โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

LinkWithin

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...