วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

สดใส กับ 9 คำถาม...ถึงนวนิสายแปลเล่มล่าสุด


สดใส กับ 9 คำถาม...ถึงนวนิสายแปลเล่มล่าสุด
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (The God of Small Things)

ปริศนา ดำธรรม
คอลัมน์สีสันพันศิลป์ นิตยสารสานแสงอรุณ
ฉบับเดือน มี.ค.-เม.ย. 2550 ปีที่ 11 ฉบับที่ 2

ในโลกของนักอ่าน เราสัมผัสและรู้จักตัวละครจากหนังสือมากมายคณานับ กระทั่งไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด คงมีเพียงตัวละครไม่กี่ตัวเท่านั้นที่เราสามารถจดจำได้ ความทรงจำผูกมัด ความประทับใจบางอย่างไว้กับบทบาทในเนื้อหนังสือที่ตัวละครเหล่านั้นดำเนินชีวิตอยู่ แม้ว่าพวกเขาจะเดินทางมาจากอีกฟากโลกหนึ่ง แต่ด้วยมนตร์เสน่ห์ของการถ่ายทอดคำและความหมาย ผืนดินที่เราอาศัยก็กลายเป็นผืนดินเดียวกับที่ตัวละครอาศัย โลกที่ปรากฏอยู่ในหนังสือกลายเป็นโลกที่เราสามารถท่องเที่ยวไปได้ทุกๆ ตารางพื้นที่ ทั้งเรา “นักอ่าน” และ “ตัวละคร” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราต่างถูกมนตราแห่งอักษรของใครบางคนชักจูงมาเจอกัน ประดุจว่านั่นคือ พรหมลิขิต

“นักแปล” คือผู้ร่ายมนตร์แห่งอักษรนำพาคนต่างเผ่าพันธุ์ภาษาจากคนละฟากโลกมาอยู่ร่วมกันในโลกหนังสือใบเล็กๆ ที่ชื่อว่า วรรณกรรมแปล ก็แล้วในวันวัยแห่งการเป็นนักอ่าน พวกเราเคยจดจำ “นาม” ของเหล่าผู้ร่ายมนตร์สะกดที่นำทางไปรู้จักกับหญิงสาวและชายหนุ่มชาวสแกนดินีเวีย คนชราและเด็กทารกชาวแอฟริกัน คู่สามี-ภรรยาชาวเอเชียกลาง หรืออัศวินและนักบวชชาวยุโรป ฯลฯ ได้บ้างหรือไม่

“สดใส” คือนักร่ายมนตร์ชั้นเลิศผู้หนึ่ง นามของเธอปรากฏเป็นที่รู้จัก ก็เมื่อผลงานของเฮอร์มาน เฮสเส ถูกเธอนำมาแปลจนเกือบครบทุกเล่ม ต่อมาเธอยังมีผลงานแปลอื่นๆ ทั้งที่เป็นงานวิชาการและวรรณกรรม กระทั่งปัจจุบันนักร่ายมนตร์ผู้นี้ก็ยังทำหน้าที่ของเธออย่างสม่ำเสมอ

เราจะชวนคุณมารู้จักกับเธอผู้นี้ ผ่าน 9 คำถามถึงผลงานนวนิยายแปลเล่มล่าสุด เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (The God of Small Things) นวนิยายรางวัลบุ๊คเกอร์ไพรซ์ปี 1997 ของนักเขียนแอคตี้วิสต์ชาวอินเดีย อรุณธตี รอย นี่คือการแปลงานอินเดีย (ต้นฉบับเขียนด้วยภาษาอังกฤษ) เล่มแรกในชีวิตสดใส ต่อไปนี้เป็นถ้อยคำบางส่วนจากเรื่องราวที่เธอผ่านพบหลังการแปลหนังสือเล่มนี้

1.       สังเกตจากผลงานแปลที่ผ่านมาเน้นไปที่วรรณกรรมตะวันตก ไม่ทราบว่าเคยแปลวรรณกรรมเอเชีย โดยเฉพาะอินเดียไว้ก่อนหน้านี้บ้างหรือเปล่า
สดใส : ไม่เคยแปลค่ะ แต่ชอบอ่านงานเขียนของอินเดีย ตั้งแต่ ภควัทคีตา โน่นแหละ นวนิยายยุคใหม่ที่ชอบมากก็ คนขี่เสือ ที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ แปลน่ะค่ะ ส่วนนวนิยายของนักเขียนอินเดียที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดูเหมือนจะชื่อ Nectar in the Sieve หรือ อะไรใกล้ๆ นี้จำไม่ได้ อ่านนานแล้ว ชอบมาก ชื่อเรื่องก็บอกว่า แค่น้ำหวานที่ค้างอยู่ในกระชอน ก็มีความหมายมากมายนัก ความงาม ความดี ความน่ารัก แม้เล็กๆ น้อยๆ เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้แก่คนทุกข์ สังคมอินเดียมีเรื่องทุกข์ยาก น่าเศร้ามาก แต่ในท่ามกลางด้านลบของชีวิตนั้น ก็ยังมีความน่าชื่นชมยินดีที่พอจะหาได้จาก “สิ่งเล็กๆ” อาจเป็นเพราะรากวัฒนธรรมอันยาวนานของอินเดีย ที่ทำให้ประเทศนี้มีสีสัน จากดำมืดจนถึงขาวโพลน ตรงกลางๆ ระหว่างนี้แหละที่น่าสนใจ นวนิยายส่วนใหญ่ของอินเดียสะท้อนเรื่องอย่างนี้ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ก็ทำนองเดียวกัน

2.       ก่อนรับแปล เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ได้อ่านพากษ์ภาษาอังกฤษมาบ้างหรือยังคะ
สดใส : ไม่เคยค่ะ ไม่เคยได้ยินชื่ออรุณธตี รอย ด้วยซ้ำ แต่แค่ได้ยินชื่อหนังสือก็รู้สึกดี นึกอยากแปล ยิ่งพอได้อ่าน โอ้โฮ้ เขียนได้ยังไง เขียนได้ยังไง คนเขียนเป็นผู้หญิง อายุน้อยเสียด้วย น่าทึ่งมาก

3.       ตอนที่ทำงานเล่มนี้รู้สึกว่ายากหรือง่าย... ภาษาอังกฤษแบบอินเดียของรอยมีลักษณะแตกต่างจากอังกฤษทั่งไปอย่างไร
สดใส : อ่าน The God of Small Things รอบแรก ด้วยความรู้สึกว่าจะต้องแปลเป็นภาษาไทย ครั้งแรกหนักใจ เพราะมีภาษาท้องถิ่นปนอยู่เยอะมาก เอ จะถามใครดี ภาษามลายาลัม ภาษาทมิฬ ไม่มีพจนานุกรมให้เปิด แต่ด้วยความใจกล้าว่าต้องหาทางแก้ปัญหา (ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะถามใครได้บ้าง เพราะพี่อยู่ต่างจังหวัด แหล่งความรู้หายาก) ก็รับปากกับสำนักพิมพ์ว่าจะทำงานชิ้นนี้ เพราะใจมันชอบเสียแล้ว บางทีการทำงานของพี่เหมือนมีพระเจ้าช่วย หลายครั้งหลายหนที่เราเสมือนจะติดขัด แต่ให้บังเอิญได้พบผู้คนที่พอจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ เป็นอย่างนี้หลายครั้งแล้ว คราวนี้เหมือนกัน ขณะกำลังมึนๆ งงๆ จะทำอย่างไรดี ก็ได้ไปรู้จักกับคุณสุภัทรา โมลดิง สุภาพสตรีเชื้อสายอินเดีย เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยูที่โรงเรียน ซึ่งลูกบุญธรรมของพี่กำลังเรียนอยู่ ไปรับลูกบ่อยๆ เจอคุณครูแอน (คุณสุภัทรา) ถามเขาว่า ในฐานะชาวอินเดีย คุณรู้จักภาษามลายาลัมหรือไม่ แอนทำหน้าเหมือนโดนผีหลอก “คุณรู้จักภาษามลายาลัมด้วยรึ” เขาถามพี่อย่างไม่อยากเชื่อ “รู้ซี รู้ว่ามีภาษานี้อยู่ในโลก ฉันกำลังจะแปลหนังสือของอินเดีย มีภาษามลายาลัมอยู่หลายคำ กำลังหาทางออกว่าจะทำอย่างไร” แอนเลยขยายความลับว่า คุณแม่ของเธอเป็นชาวเค-ราลาแท้ทีเดียว เธอจึงพอจะรู้และเข้าใจภาษามลายาลัมและภาษาทมิฬอยู่บ้าง แอนจึงช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ส่วนคุณสุมิตรา คานธี เป็นเจ้าของร้านขายผ้าที่สงขลา เธอรู้ภาษาฮินดีอย่างดี มิตรทั้งสองนี้จึงช่วยพี่อย่างมากที่สุด
ภาษาอังกฤษของรอย มีชีวิตชีวามาก ขี้เล่นที่สุด แปลไปหัวเราะไป (บางทีก็ร้องไห้) แปลหนังสือเล่มนี้ทั้งเป็นเรื่องที่ท้าทาย สนุกมาก

4.       ดูเหมือนว่านักอ่านบ้านเรารู้จัก เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ พากษ์ภาษาอังกฤษมากพอสมควร ซึ่งอาจทำให้เกิดความคาดหวังต่อสำนวนแปลไทย ประเด็นนี้ถือเป็นข้อระวังมากน้อยแค่ไหน
สดใส : เรากำลังทำงานตามเนื้อผ้า ซาบซึ้งแค่ไหน ตีความได้แค่ไหน ก็นำเสนอด้วยวิธีและลีลาของเราถ้ามั่นใจว่ารักงานที่ทำ และซื่อสัตย์กับมัน จะกลัวคำวิพากษ์วิจารณ์ทำไม ถ้ามัวแต่กลัวก็ไม่ต้องทำอะไรเลย การที่ผู้อ่านจะมีความเห็นไปต่างๆ นานา นั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว

5.       นักวิจารณ์วรรณกรรมฟากตะวันตกพูดถึงหนังสือเล่มนี้ในแง่บวกเยอะมาก ในบ้านเราก็มีพูดถึงกันอยู่หลายคน เช่น คุณมุกหอม วงษ์เทศ  อาจารย์ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์ เป็นต้น สำหรับผู้แปลอะไรคือจุดเด่นของเทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ และอะไรคือจุดด้อยของรอย

สดใส : เรื่องนี้มีคนเขียนคำนิยมไว้มากแล้ว (ทั้งปกหน้าและปกหลังของหนังสือ) พี่เห็นด้วยกับนักวิจารณ์เหล่านั้นทุกประการ เห็นด้วยว่า ลีลาการเขียนของรอยมีเสน่ห์มาก ทั้งเสียดสี ทั้งขี้เล่น ทั้งจริงจัง ทั้งเหี้ยมห้าว ทั้งละเมียดละไม ทั้งห่างเหินและชิดใกล้ ไม่เคยอ่านงานเขียนที่ผสมรสชาติที่จัดจ้านให้กลมกล่อม สะท้านสะเทือนใจได้อย่างนี้มาก่อน สะท้านสะเทือนใจทั้งภาษาและสาระที่นำเสนอ ตัวละครหลักๆ ทุกตัวยึดหัวใจเราได้หมด

6.       หากเปรียบเทียบ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ กับงานแปลวรรณกรรมคลาสสิกเล่มเขื่อง เช่น พี่น้องคารามาซอฟ เกมลูกแก้ว และอันนา คาเรนินา แล้ว เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ใกล้เคียงกับความเป็นโมเดิร์นคลาสสิกหรือยัง
สดใส : ถ้าความหมายของคลาสสิก คืองานชั้นครู เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ เป็นงานชั้นครูได้โดยไม่ต้องมีใครจัดอันดับ คุณต้องเก่งมากๆ จึงจะสามารถนำประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคมของประเทศที่เก่าแก่หลายพันปี ที่ผ่านประสบการณ์ดีร้ายมาอย่างยาวนาน มานำเสนอได้อย่างแจ่มแจ้งล่อนจ้อน ด้วยภาพสะท้อนของตัวละครเพียงไม่กี่ตัว ตัวละครที่กระชากใจคุณ เพราะความมีชีวิตเลือดเนื้อของพวกเขาทุกคน

7.       คอวรรณกรรมบ้านเราจะได้อะไรจากการอ่าน เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
สดใส : ได้เห็นว่า งานที่เขียนดีๆ นั้นเป็นอย่างไร ดีทั้งเนื้อหาสาระ ดีทั้งกระบวนการสร้างสรรค์ ดีทั้งวิธีนำเสนอ สวยงามไปหมด (แทบจะได้กลิ่น รู้รส และรู้สึกร้อนหนาวไปกับฉากและเหตุการณ์) ในชีวิตนี้ถ้านักเขียนทำงานชิ้นเยี่ยมอย่างนี้ได้แล้ว การจะเขียนนวนิยายเล่มต่อๆ ไปให้ได้คุณภาพครบถ้วนอย่างนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ รอยทำแต้มไว้สูงมากจากหนังสือเล่มนี้ พี่จึงไม่แปลกใจที่เธอเขียนนวนิยายเล่มนี้เล่มเดียว แล้วต้องพัก (อย่างน้อยสักระยะ) หันไปเขียนงานในลักษณะอื่น

8.       ความเป็นนักเขียนกับนักกิจกรรมมีผลต่อการทำงานของรอยอย่างไร
สดใส : นักเขียนเขียนสิ่งที่เขารู้ ผ่านแว่นโลกทัศน์และชีวทัศน์ของตน รอยเป็นนักกิจกรรม (Activist) สำนึกการต่อสู้กับการกดขี่เอาเปรียบ ปรากฏอยู่ในตัวละครของรอยอย่างชัดเจน แต่ความน่าสะเทือนใจของ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้อย่างห้ำหั่นเพื่อความชนะ เพื่อความยิ่งใหญ่ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นคน การต่อสู้ที่แม้จะแพ้ แต่คุณก็คือผู้ชนะอยู่ในใจของทุกคนที่เกี่ยวข้อง (และผู้อ่าน)

9.       เอ... จบคำถามสุดท้ายด้วยประโยคแบบไหนดี ...เอาเป็นว่าช่วยบอกชื่อหนังสือที่ชอบสัก 10 เล่มนะคะ
สดใส : ชอบหนังสือทุกเล่มที่พี่แปล พี่อาจโชคดีที่ชีวิตกับการงานไปด้วยกัน จึงทำงานด้วยความสบายใจ และรักงานทุกเล่มที่แปล คิดว่างานทุกเล่มล้วนเป็นเพื่อน เป็นครู ช่วยเปิดโลกทัศน์ นำเราท่องไปในแดนจินตนาการและปัญญา สัมผัสกับชีวิตนานาอย่างแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราชอบอ่านหนังสือ เมื่อก่อนซื้อหนังสืออ่านมาก แต่ตอนนี้แทบไม่ค่อยได้ซื้อ เพราะนั่งอยู่ที่บ้านสำนักพิมพ์ก็ส่งหนังสือไปให้แปล หนังสือที่อ่านตอนนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ไม่มีเวลาได้อ่านงานวรรณกรรมของไทยมากนัก จึงไม่อาจแนะนำเล่มไหนได้เป็นพิเศษ แต่ถ้าจะอ่านงานแปลที่ดีและมีสาระในระยะนี้ ก็ขอแนะนำงานแปลใหม่ๆ ที่ตีพิมพ์ในปี-สองปีนี้แล้วกันนะคะ ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา, ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม, อยู่กับมาร, ความสุขมวลรวมประชาชาติ เล่ม2  : คิดใหม่เกี่ยวกับการพัฒนา, พลังความเงียบ ห้าเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ต้นไม้สายใยชีวิต : ศิลปะกับความศักดิสิทธิ์, ความงามข้ามกาลเวลา สองเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

LinkWithin

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...