วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ กับพรุ่งนี้ซึ่งไม่มีวันมาถึง


เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
กับพรุ่งนี้ซึ่งไม่มีวันมาถึง

ปรีดา อัครจันทโชติ
คอลัมน์ คนกับหนังสือ นิตยสารสารคดี ปีที่ 23 ตุลาคม 2550 ฉ. 272

จริงๆ แล้วมันเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องความรัก กฎที่กำหนดว่าควรจะรักใคร รักอย่างไร และรักได้มากแค่ไหน
“กระนั้น นั่นก็เป็นเพียงเป้าหมายที่น่าจะปฏิบัติได้ ในโลกการปฏิบัติที่ไร้ความหวัง” (หน้า ๓๗-๓๘)

เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (The God of Small Things) นวนิยายรางวัล Booker Prize ประจำปี ค.ศ. ๑๙๙๗ โดยนักเขียนสตรีชาวอินเดียนามว่า อรุณธตี รอย สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วรรณกรรมอินเดียแนวที่เรียกว่า “บริติชอินเดีย” ด้วยเหตุที่มิใช่วรรณกรรมยุคใหม่ซึ่งแสดงสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยชุมชนยากไร้ ขณะเดียวกันก็มีอารยธรรมเก่าแก่น่าภูมิใจ ดังเช่นผลงานรพินทรนาถ ฐากูร  ภวานี ภัฏฏาจารย์ และคนอื่นๆ หากแต่ผลงานของ อรุณธตี รอย แสดงให้เห็นภาพสองด้านของสังคมอินเดีย ทั้งในมุมของวัฒนธรรมพื้นถิ่นและกลิ่นอายความฟู่ฟ่าแบบอังกฤษอันเป็นเจ้าอาณานิคม

ราเฮลกับเอสธาเป็นฝาแฝดเกิดจากไข่คนละฟอง ราเฮลเป็นน้องสาว ส่วนเอสธาเป็นพี่ชาย ทั้งสองอยู่ในครอบครัวของผู้มีอันจะกินที่ประกอบธุรกิจโรงงานผักดองในเมืองเค-ราลา ประกอบไปด้วย อัมมู (แม่)  จักโก (ลุง)  มัมมาจี  (ยาย)  และเบบี้ โกจัมมา (ยายน้อย)
สถานการณ์หลักของเรื่องคือเหตุการณ์ช่วงที่ราเฮลกับเอสธามีอายุ ๗ ขวบ เมื่อคุณหนูโซฟีกับมาร์กาเร็ตผู้เป็นลูกสาวและอดีตภรรยาของจักโกมาพักผ่อนที่อินเดีย กับเหตุการณ์ ๒๓ ปีต่อมา เมื่อราเธอกับเอสธากลับมาเยี่ยมบ้านเกิด
เหตุการณ์ในอดีต เหตุการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงเหตุการณ์ที่เล่าภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว ถูกตัดสลับไปมาตลอดเวลาอย่างไม่เกรงใจผู้อ่าน โดยใช้น้ำเสียงที่เรียบนิ่งเสียดเย้ยอารยธรรมสลับกับน้ำเสียงเร่าร้อนแสดงความพลุ่งพล่านของอารมณ์มนุษย์
แม้ราเฮลกัลเอสธาจะเกิดจากไข่คนละฟอง แต่ทั้งคู่ก็มีความผูกพันลึกซึ้ง อาจกล่าวได้ว่าต่างฝ่ายต่างเป็นอีกครึ่งชีวิตและเป็นด้านตรงข้ามของกันและกัน ราเฮลนั้นเปิดตัวสู่โลกภายนอก เดินทางสู่ต่างประเทศ ใช้ชีวิตหวือหวา แต่ภายในใจกลับว่างเปล่า ขณะที่เอสธานั้นใช้ชีวิตเรียบง่าย ถนัดที่จะใช้ชีวิตเหมือนเป็นอากาศธาตุของคนรอบข้าง แต่ภายในใจนั้นกลับเต็มไปด้วยความสับสนครุ่นคิดและดูเหมือนจะมีราเฮลเพียงคนเดียวที่เข้าใจพี่ชายฝาแฝดของเธอ จนน่าเชื่อได้ว่าเวลา ๒๓ ปีที่ทั้งสองแยกกัน ราเฮลอาจรับรู้ความเป็นไปของเอสธา เหมือนกับที่เธอเคยมีความทรงจำร่วมกับเขาในสิ่งที่ “ตนไม่มีสิทธิ์จะรู้”
ตัวละครหญิงในเรื่องต่างเป็นตัวแทนของสตรีอินเดียในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคอินเดียดั้งเดิม มาจนถึงยุคบริติชอินเดีย และอินเดียแบบโลกาภิวัตน์ นอกเหนือจากราเฮลแล้ว ตัวละครหญิงอื่นต่างล้วนอยู่ในบ่วงแห่งความรัก และเป็นวัตถุรองรับอารมณ์เพศชาย หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นคนเก็บกด ไม่อาจเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกของตนออกไปได้
มัมมาจีเป็นตัวแทนของหญิงอินเดียในโลกเก่าที่ออกเรือนไปรองรับอารมณ์ของสามีที่ยึดติดกับหัวโขนแห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของบุรุษเพศ พรสวรรค์ทางไวโอลินของเธอถูกปิดกั้น และกลายเป็นผลร้ายต่อชีวิตด้วยเหตุที่เธออยู่ในโลกที่สามีไม่ต้องการให้ภรรยามีอัตลักษณ์ของตนเอง
ขณะที่เบบี้ โกจัมมา คือตัวแทนของหญิงอินเดียยุคอาณานิคมอังกฤษ เธอหลงรักคุณพ่อมัลลิแกนผู้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนา โดยมิอาจทำอะไรได้มากกว่าการเปลี่ยนไปนับถือนิกายคาทอลิกแล้วพร่ำเขียนบันทึกว่า “ดิฉันรักท่าน” ในยามที่เขาล่วงลับไปแล้ว เธอไม่ประสบความสำเร็จในความรักที่ผิดทำนองคลองธรรม แต่เธอก็พยายามบอกตัวเองว่าเป็นเพราะตัวเองมีความอดกลั้นต่อบาป นี่เป็นเหตุผลที่เธอมุ่งร้ายต่ออัมมู และสองฝาแฝดซึ่งกล้าทำอะไรตามอย่างใจคิด
ส่วนอัมมูผู้ตัดสินใจมีครอบครัวเพราะหวังเป็นอิสระจากพ่ออารมณ์ร้ายเพียงเพื่อจะได้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการหนีเสือปะจระเข้ หลังล้มเหลวจากชีวิตครอบครัวแล้ว เธอมักฝันถึงผู้ชายแขนเดียวที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์พร้อม หากว่าเปี่ยมด้วยเหตุผล รักเธออย่างจริงใจ และพร้อมจะปกป้องเธอ
ในกรณีของอัมมู การหย่าร้างถูกตัดสินจากบุคคลรอบข้างว่าเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจมหันต์ ยิ่งการหอบลูกกลับมาอยู่บ้านเดิม ก็ยิ่งทำให้เธอหมดคุณค่าความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง เพราะแม้ว่าบิดาของเธอเองก็ไม่เชื่อว่า “ผู้ชายชาวอังกฤษ” ที่เป็นเจ้านายของสามีเธอจะกล้าทำเรื่องผิดศีลธรรม จนเป็นเหตุให้เธอหนีกลับมาพึ่งพิงบิดา
ครั้นเมื่อเธอสูญเสียจนแทบไม่มีอะไรให้สูญเสียอีก อัมมูจึงแปลสภาพเป็นระเบิดพลีชีพที่ไม่คำนึงถึงแบบแผนทางสังคมใดๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้สูญเสียก็หาใช่ใครอื่น หากเป็นตัว “ระเบิด” นั่นเอง
สมาชิกในครอบครัวโกจัมมาล้วนเป็นพวกเก็บความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ต่างพยายามดิ้นรนต่อสู้ แต่ความแตกต่างคือ ตัวละครเพศชายอย่างปัปปาจีและจักโก อาจประสบภาวะบีบคั้นทางจิตใจจากโลกภายนอก ดังเช่นที่ปัปปาจีต้องเป็นทุกข์กับการถูกปฏิเสธการค้นพบแมลงชีปะชาวพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้เขาลาออกจากราชการอย่างไม่ไยดี ขณะที่จักโกเผชิญปัญหาการใช้ชีวิตในต่างแดน หรือกระทั่งช่วงเวลาที่อพยพกลับอินเดีย แต่เมื่อทั้งสองล้มเหลวจากโลกภายนอก พวกเขายังสามารถกลับสู่โลกภายใน (ครอบครัว) ซึ่งตัวเองเป็นใหญ่ และทำทุกอย่างได้ตามใจ (โดยมากมักลงที่ภรรยา หรือคนในครอบครัวที่เป็นหญิง)
ขณะที่ตัวละครเพศหญิงอย่างมัมมาจีและอัมมู ทำอะไรไม่ได้มากกว่าการอดทน แม้อัมมูกับมาร์กาเร็ตจะเผชิญชะตากรรมคล้ายคลึงกัน คือการหย่ากับสามี แต่ปลายทางของทั้งคู่กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง การหย่าร้างของมาร์กาเร็ตถือเป็นเรื่องปรกติของสังคมตะวันตก แต่การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเดียวกันของอัมมูกลับกลายเป็นความผิดและตราบาป  มาร์กาเร็ตสามารถแต่งงานใหม่ได้โดยปราศจากเสียงเย้ยหยัน แต่การต้องการเติมเต็มชีวิตใหม่ของอัมมูกลับถือเป็นมลทินแห่งชีวิต และกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เมื่อชายผู้นั้นคือบุรุษหนุ่มผู้มีศักดิ์แห่งความเป็นมนุษย์ต่ำกว่าชาววรรณะทั้งสี่
เมื่อกล่าวถึงตัวละคร ผู้เขียนเน้นถึงภาวะจำยอมที่ตัวละครต้องเลือกอยู่หลายตอน ไม่ว่าจะตอนที่สหายปิลไลบอกราเฮลที่กลับมาเยี่ยมบ้านว่า เธอมีทางเลือกเพียงแค่มีลูกสาวหรือไม่ก็ลูกชายเท่านั้น อัมมูจำต้องเลือกย้ายบ้านตามบิดามารดา ต้องเลือกที่จะเลิกเรียนหนังสือ ส่วนเวลุธาก็ต้องเลือกที่จะเป็นจัณฑาลที่ถูกเหยียดหยาม เมื่อใดที่ตัวละครต้องการจะสร้างทางเลือกของตนเองนอกเหนือจากทางเลือกที่สังคมกะเกณฑ์ให้ ตัวละครเหล่านั้นก็จะถูกดูหมิ่นจากสังคม พวกเขาจำเป็นต้อง “เลือก” ทางใดทางหนึ่ง หรือมิฉะนั้นก็จำเป็นต้องเลือกทางเลือกเดียวที่สังคมเปิดกว้างให้
ผู้ที่ต้องเผชิญหน้ากับ “ทางเลือก” เหล่านี้ ล้วนเป็นตัวละครหญิงหรือไม่ก็คนวรรณะต่ำต้อย

เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ยังเสนอทัศนะว่าด้วยความขัดแย้งทางสังคมหลายระดับไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับกระแสโลกาภิวัตน์ (กลิ่นยากำจัดศัตรูพืชที่ซื้อจากเงินกู้ของธนาคารโลก เทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่ที่จักโกนำมา แต่ทำให้โรงงานผักดองตามแบบดั้งเดิมขาดทุน ฟ้อนกถักฬิถูกตัดทอนให้แสดงจบใน ๒๐ นาทีเพื่อเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมสำหรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความพยายามของโลกาภิวัตน์และทุนนิยมเสรีที่แทรกซึมเข้าสู่ประเทศที่มีกำแพงทางวัฒนธรรมแข็งแกร่งอย่างอินเดีย) ความขัดแย้งเหล่านี้ต่างยึดโยงกับระบบความเชื่อที่สำคัญ ๔ ระบบที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวในเล่ม (และสังคมอินเดียทั่วไป) นั่นคือศาสนาคริสต์นิกายซีเรียน ลัทธิคอมมิวนิสต์ โลกาภิวัตน์ และที่สำคัญที่สุดคือ ระบบวรณะในศาสนาฮินดู
ระบบคิดเหล่านี้สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน บ้างก็เหมือนจะประสานผลประโยชน์กันได้ แต่โดยมากมักขัดแย้งกัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทุกระบบความคิดต่างเป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์และอารยธรรมมนุษย์ เผ่าพันธุ์ที่เพิ่งสร้างอารยธรรมมาไม่นาน ดังเช่นที่จักโกอธิบายให้ราเฮลกับเอสธาในวัยเด็กฟังว่า โลกซึ่งมีอายุ ๔,๖๐๐ ล้านปีก็เปรียบได้กับผู้หญิงอายุ ๔๖ ปี อารยธรรทุกอย่างของมนุษย์นั้น “เพิ่งเกิดขึ้นในชีวิตของนางโลกเมื่อสองชั่วโมงที่ผ่านมานี้เอง” (หน้า ๖๑)
ยิ่งอารยธรรมเข้มแข็งเพียงใด ก็ยิ่งเป็นการท้าทายต่อแรงทำลายที่หนักหน่วงทัดเทียมกัน เฉกเช่นกำแพงเหล็กกล้าที่ถูกกระหน่ำทั้งจากภายในและภายนอกในระหว่างยื้อยุดต่อสู้กันนี้เอง ผู้อาศัยอยู่ในบ้านย่อมหวาดผวาอย่างช่วยไม่ได้
ราเฮลกับเอสธาจึงเป็นตัวแทนของหนุ่มสาวอินเดียรุ่นใหม่ที่เติบโตท่ามกลางความขัดแย้งหลายระดับของสังคมอินเดียดังที่กล่าวมา ราเฮลเลือกที่จะหนีออกจาก “บ้าน” เพื่อให้ไกลความขัดแย้ง ขณะที่เอสธาเลือกที่จะอยู่ใน “บ้าน” หลังเดิมต่อไป โดยไม่ไยดีว่า “กำแพง” หน้าบ้านถล่มทลายแล้วหรือยัง
ผู้เขียนใช้บ้านประวัติศาสตร์แสดงถึงการดำรงคงอยู่ของประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยาวนานของมนุษย์ซึ่งมีความหมายนัยลบและเป็นอำนาจนิยม ดังที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์ได้ต่อรองเรียกร้องให้คนที่ทำลายกฏของมันต้องชดใช้” (หน้า ๖๒) และ “มนุษย์ยินดีที่จะทำลายสิ่งซึ่งเขาไม่อาจปราบให้เชื่อง และสิ่งที่เขาไม่อาจเชิดชูเป็นพระเจ้า” (หน้า ๓๔๒)
สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้พวกจัณฑาลจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ และเป็นคอมมิวนิสต์ แต่เขาก็ไม่อาจสลัดคราบจัณฑาลไปพ้นตัวได้ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน แม้กระทั่งในสายตาของมาร์กซิสต์อย่างจักโกและสหายปิลไล

โลกในเค-ราลาจึงแบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ โลกแห่งความเป็นจริงและโลกแห่งความฝันของมนุษย์ผู้ทนทุกข์ โดยมีแม่น้ำและเรือลำน้อยเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกทั้งสอง การที่ “เขา” (เวลุธา) เปลือยกายข้ามน้ำในบทที่ ๑๕ จึงหมายถึงความพยายามปลดเปลื้องความเป็นจัณฑาลของตนไปสู่อีกโลกที่สดใสกว่า เพราะน้ำในแม่น้ำจะกลบรอยเท้าของเขาโดยมิต้อง “คลานถอยหลังเช็ดรอยเท้าตนเอง” ดังกฏของจัณฑาลในโลกแห่งความเป็นจริง
นอกจากนี้แม่น้ำและเรือยังเป็นตัวเชื่อมของราเฮลกับเอสธาในการเดินทางไปสู่โลกไกลบ้าน เมื่อพวกเขาถูกกดดันจากครอบครัว (คำตวาดของอัมมูที่ว่าหากไม่มีพวกเขา เธอก็จะมีชีวิตที่เป็นสุข เป็นเพียงจุดระเบิดของเชื้อไฟที่ก่อตัวมาก่อนหน้านั้น)

แม้ผู้เขียนพยายามท้าทายกฎเกณฑ์ทางสังคม โดยสร้างตัวละครขบถ ๒ คู่ ได้แก่ราเฮลกับเอสธา และอัมมูกับเวลุธา แต่ก็เป็นดังที่เธอกล่าวว่า มันเป็นเพียง “เป้าหมายที่น่าจะปฏิบัติได้ในโลกการปฏิบัติที่ไร้ความหวัง” ในเมื่อพวกเขาถูกตามล้างตามผลาญไปจนถึงโลกแห่งความฝัน การเดินทางมาสู่อีกโลกหนึ่งของฝาแฝดนั้นต้องเสียค่าโดยสารเป็นเครื่องสังเวยแก่แม่น้ำในราคาสูงลิบลิ่ว (นี่ยังไม่นับว่ามีคนรู้พฤติกรรมบางอย่างของพวกเขาแล้วจะมีปฏิกิริยาอย่างไร) เช่นเดียวกับที่ระบบวรรณะยังอุตสาห์ตามไปฉุดกระชากเวลุธาออกมาจากโลกใบนั้น
เหตุการณ์เหล่านี้ดำเนินไปโดยไม่มีใครรู้ ยกเว้นแต่ค้างคาวตาบอดเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ อย่างเวลุธา ผู้เป็นที่รักของราเฮลกับเอสธาในยามกลางวัน และเป็นที่รักของอัมมูในยามกลางคืน จึงกลายเป็นเทพเจ้าแห่งการสูญเสีย และเป็นซากแห่งอารยธรรมอันรุ่งเรือง
เวลุธามีอุรัมบันเป็นตัวตนอีกภาคเฉกเช่นทุรคาเป็นอีกภาคของอุมาเทวี อุรัมบันคือตัวตนในภาคขบถที่เชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ล้มล้างระบบวรรณะโดยยึดถือคอมมิวนิสต์ ขณะที่เวลุธาคือภาคของชายหนุ่มผู้มากความสามรถและเป็นที่รักของครอบครัวนายจ้าง ดังนั้นเมื่อเอสธากลับมาหาราเฮลหัลจากเวลุธาถูกทำร้าย เขาตอบราเฮลว่า “ที่เธอพูดน่ะถูก ไม่ใช่เขาหรอก อุรัมบันต่างหาก” (หน้า ๓๕๕) แม้จะทำให้เด็กๆ หลอกตัวเองได้ว่าชายผู้เป็นที่รักของพวกเขายังปลอดภัย แต่ความหมายที่ตามมาก็คือความเท่าเทียมกันของมนุษย์ได้ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิงแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ในตอนที่อัมมูกับเวลุธาแยกจากกันที่ริมฝั่งแม่น้ำ อัมมูได้กล่าวกับเวลุธาด้วยใจเปี่ยมความหวังว่า “พรุ่งนี้จ้ะ” แต่น่าเสียดายว่าพรุ่งนี้ของทั้งคู่ไม่มีวันมาถึง
พรุ่งนี้มิใช่เป็นเพียงวันพรุ่งนี้ของพวกเขาทั้งคู่ หากยังหมายถึงพรุ่งนี้ของมวลมนุษยชาติ!.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

LinkWithin

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...