วิธีทำให้เทพเจ้าเป็นสิ่งเล็กๆ
อุทิศ เหมะมูล
คอลัมน์ เล่าเรื่องหนังสือ นิตยช่อการะเกด ตุลาคม 2550
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ (The God of Small Things) เป็นนวนิยายเรื่องแรก (และเรื่องเดียวในขณะนี้) ของนักเขียนหญิงชาวอินเดีย
อรุณธตี รอย ซึ่งนับแต่รอยทำคลอดนวนิยายเรื่องนี้ในปี 1997
มันก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงบวก ชนะเลิศรางวัล Booker Prize ในปีเดียวกัน
และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกกว่า 30 ภาษา
ด้วยตัวเนื้อหาของนวนิยาย
อิ่มอุดมด้วยโศกนาฏกรรมที่เกี่ยวกระหวัดเหตุการณ์หลากหลาย-ดาหน้ามาประชุมกันที่ตระกูลชนชั้นกลางตระกูลหนึ่งในเอเยเมเน็ม
เมืองเล็กๆ ของรัฐเคราล่า ทางตอนใต้ของอินเดีย โศกนาฏกรรมเล็กจ้อยของตระกูลหนึ่ง
ทั้งสอดเกี่ยวและมีส่วนร่วม
เป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำในแผนการประวัติศาสตร์อันแยบยล
(อ้างความรับผิดชอบโดยโชคชะตาและความบังเอิญ) ของอินเดียในปี 1969
เหตุการณ์หลากหลายที่ว่า
กางแผ่อยู่บนแผนภูมิแห่งชนชั้นวรรณะ
ความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าของชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่ใช้แรงงาน
อันมาในรูปของการปกครองแบบมาร์กซิสต์ที่ก่อความเคลื่อนไหวอยู่ในขวบปีดังกล่าว
กับเหล่าตัวละครที่เต้นเร่าอยู่บนวิถีทางของตนเองเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
เพื่อภาระหน้าที่ เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรี เพื่อกอดกุมความรัก ความหวัง
และวันพรุ่งนี้ แต่ท้ายแล้วทุกคนไม่ได้รับความหวานชื่น
พวกเขาต่างเผชิญหน้ากับความสูญเสีย ความตาย ความล่มสลายย่อยยับ
ที่ฝากรอยแผลไว้ให้รำลึกจดจำ และการจะมีชีวิตอยู่สืบต่อไปได้ ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนแก่พวกเขาว่า
‘...จะต้องมอบศรัทธาไว้ที่ความเปราะบาง
ยึดมั่นความเล็กน้อย...’ (หน้า 375)
เพราะความศรัทธาของชีวิตที่มอบและโยงใจสู่ ‘เทพเจ้า’ ของพวกเขานั้นปรากฏตัวผ่าน ‘ความสูญเสีย’ และ ‘สิ่งเล็กๆ’
นับครั้งไม่ถ้วน
ณ
บ้านอเยเมเน็มนี้เอง อุบัติเหตุต่างๆ โผล่หน้ามาทายทัก ดั่งเป็นสถานอโคจร ผ่านคน 4
รุ่นของตระกูล
เริ่มจากสาธุคุณอิปเป
ผู้นำศาสนาคริสต์นิกายซีเรียเข้ามาเผยแพร่ในเคราล่า สาธุคุณอิปเปมีลูกสองคน คือ
ปัปปาจี กับ เบบี้ โกจัมมา ปัปปาจีแต่งงานกับมัมมาจี ให้กำเนิดลูกสองคนคือ จักโก
กับ อัมมู อัมมูให้กำเนิดเด็กแฝดชายหญิงจากไข่คนละใบคือ เอสธา กับ ราเฮล
เด็กแฝดสองคนนี้คือรุ่นสุดท้ายและกลายเป็นผู้เล่าเรื่องในนวนิยายเรื่อง เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
มากไปกว่าโศกนาฏกรรมที่ผู้อ่านได้ร่วมเผชิญหน้า
เป็นพยานรู้เห็นความเป็นไป จากส่วนเสี้ยวของเหตุการณ์ทางชีวิตที่แตกกระจัดกระจายของเด็กแฝดสองคน
ตรึงใจไปกับความหวั่นไหวเปราะบาง
และความอ่อนหวานของโมงยามเล็กจ้อยเท่าที่ตัวละครจะโอบกอดเป็นเจ้าข้าวเจ้าของได้
ยังมีความสะทกสะท้านในหลากหลายเหตุการณ์กระจัดกระจายนั้น
ได้เรียงชุดสอดร้อยเข้ากันอย่างประณีตและแยบยล หากเหล่าตัวละครใน
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ได้เผชิญหน้ากับ ‘แผนการ’ ของประวัติศาสตร์
(อ้างความรับผิดชอบโดยโชคชะตาและความบังเอิญ)
เราในฐานะผู้อ่านก็ได้เผชิญหน้ากับโครงสร้างของถ้อยคำที่จัดว่างอย่างมี ‘แบบแผน’ ของอรุณธตี รอย (ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น
สถาปนิกแห่งถ้อยคำ) ดังนี้เอง นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องมากไปกว่าตัวบท
เพราะโครงสร้างของตัวเรื่อง ภาษาอันแพรวพราวอุดมด้วยจินตภาพ อุปมาคมคาย
ไวยากรณ์ทางภาษากระชับรัดกุม และการผสมคำจนได้รูปคำใหม่
อันสะท้อนภาวะรู้สึกนึกคิดผ่านผู้เล่าเรื่องอย่าง เอสธา กับ ราเฮล นั้น
เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ชวนให้ถอดรหัสอย่างยิ่ง
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
เล่าเรื่องข้ามไขว้เวลาและตัดสลับเหตุการณ์ โดยยึดโยงอยู่ที่โศกนาฏกรรมสำคัญในปี
1969 ขณะที่เอสธากับราเฮลอยู่ในวัย 7 ขวบ นวนิยายเริ่มเรื่องในปี 1992
เอสธากับราเฮลได้กลับมาเจอกันอีกครั้งที่บ้านอเยเมเน็ม หลังจากไม่ได้เจอกันนานถึง
23 ปี บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองผลิตอุตสาหกรรมของหมักดองและอาหารสำเร็จรูปขนาดย่อม
และรื่นรมย์ด้วยวงศาคณาญาติ
ลูกเล็กเด็กแดงวิ่งกันเจี๊ยวจ๊าวบัดนี้ร้างไร้ชีวิตชีวา
บ้านอเยเมเน็มซอมซ่อเหลือผู้ถือครองเพียง เบบี้ โกจัมมา กับสาวใช้คนสนิท โกจู
มาเรีย วันๆ
นั่งเอกเขนกแทะถั่วหน้าจอทีวีติดตามละครน้ำเน่าผ่านจานดาวเทียมที่เพิ่งนำมาติดตั้ง
สองนายบ่าวตรงตามลักษณะ ‘นายว่าขี้ข้าพลอย’ มาแต่ไหนแต่ไร
เอสธาในวัย
30 เงียบขรึม จมอยู่ในห้วงทุกข์ไม่เหมือนในวัย 7 ขวบ นั่นเพราะเขาผ่านโศกนาฏกรรมเลวร้ายมา
ไม่เพียงผ่านพบเท่านั้น แต่เขายังเป็นเหมือนซากชีวิตหลงเหลือจากเหตุการณ์ในฐานะ ‘ผู้เก็บใบเสร็จทางประวัติศาสตร์’
ส่วนราเฮลคู่แฝดของเขาก็มีชีวิตล้มเหลวไม่ต่างกัน เธอเดินทางไปต่างประเทศ
แต่งงาน หย่าร้าง และค้นพบว่าคนที่เธอมองเห็นตลอดมาคือเอสธา เธอเดินทางกลับอินเดียสู่บ้านอเยเมเน็มเพื่อมาหาเขา
หลั่งรินและแบ่งปันหัวใจทุกข์ระทมแสนเปล่าเปลี่ยวแก่กันและกัน
แฝดคู่นี้มีสัมผัสพิเศษสื่อสารถึงกันมาแต่อ้อนแต่ออก
จนท้ายสุดพัฒนาไปสู่ความรักต้องห้าม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของรักต้องห้ามที่อุบัติขึ้น
ณ บ้านอเยเมเน็ม ในปี 1969 นั้น อัมมูแม่ของพวกเขา
ก็ค้นพบรักต้องห้ามที่หวานซึ้งอันเป็นหนทางเข้าถึงเทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
กับชายวรรณะจัณฑาลชื่อ เวลุธา
ช่างสารพัดประโยชน์ประจำบ้านผู้ฝักใฝ่ลัทธิมาร์กซิสม์ที่กำลังก่อตัวขึ้น
เหตุการณ์พันตูในปีนั้นนำมาซึ่งความย่อยยับจนล่วงสู่ปีปัจจุบัน
ด้วยความคุกรุ่นทางอุดมการณ์มาร์กซิสต์ของชนชั้นล่าง
กับเทศกาลคริสต์มาสของชนชั้นกลางในเคราล่า
หาจุดประจวบเหมาะในที่ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์
จักโก
พี่ชายของอัมมู ลุงของคู่แฝดได้เชิญมาร์กาเร็ต
โกจัมมาอดีตภรรยา หย่าร้าง กับลูกสาววัย 9 ขวบของเขา โซฟี โมล
เดินทางมาจากอังกฤษมาบ้านอเยเมเน็ม การมาปรากฏตัวของสองแม่ลูก ‘ผู้ดี’ ชาวอังกฤษ
เปลี่ยนสถานภาพทางชนชั้นของคนในบ้านจากคนตัวใหญ่ให้กลายเป็นคนตัวเล็กลงฉับพลัน
ความรู้สึกเข้มข้นนี้เกิดขึ้นกับอัมมูและเด็กแฝดลูกของเธอ เธอกับลูกๆ ถูกลดค่าและความสำคัญลง
สถานภาพที่ยักย้ายถ่ายเปลี่ยนมีบทบาทอย่างยิ่งในแผนการทางประวัติศาสตร์
เมื่อโศกนาฏกรรมอุบัติขึ้นและความจริงทั้งมวลกางแผ่อยู่เบื้องหน้า
ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนั้นเอสธากับราเฮลพาโซฟี
โมลหลบหนีจากอันตรายและความวุ่นวายของผู้ใหญ่ พายเรือข้ามฝ่าแม่น้ำนาจัลไปยังบ้านประวัติศาสตร์
โซฟี โมลจมน้ำเสียชีวิต ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างอัมมูกับเวลุธา
ถูกจับได้โดยเบบี้ โกจัมมา ความอัปยศของตระกูลทำให้เบบี้
โกจัมมาปกปิดความสัมพันธ์น่าชิงชังนั้นโดยป้ายความผิดว่า
เวลุธาคือตัวต้นเหตุแห่งความตายของโซฟี โมล (บวกรวมด้วยลักพาตัวเด็กแฝด
ข่มขืนอัมมู และคอมมิวนิสต์) เวลุธาถูกตำรวจซ้อมจนตาย
อัมมูถูกจักโกตะเพิดออกจากตระกูล มีสภาพไม่ต่างจากขอทานและตายลงอย่างน่าสังเวช
จักโกทายาทกิจการสวนสวรรค์ผักดอง &
อาหารสำเร็จรูปประจำตระกูล หนีไปอยู่แคนาดา
ด้วยเหล่าคนงานนั้นพากันสไตร๊ค์เป็นเหตุให้โรงงานต้องปิดตัวลง
ส่วนเอสธากับราเฮลถูกจับแยกอยู่กันคนละทิศทาง จนล่วงปี 1992 เอสธากับราเฮลจึงได้กลับมาพบกันอีกครั้ง
และจะไม่มีอะไรมาแยกพวกเขาได้อีก
นี้คือเรื่องราวอย่างย่นย่อใน
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ที่นักวิจารณ์ชื่นชมว่าเป็น ‘การผสมผสานอย่างเก่งฉกาจ ระหว่างกามรส ความเร้นลับ
และประวัติศาสตร์ของอินเดีย ทั้งในระดับครอบครัวและระดับชาติ...’ นักวิจารณ์หลายคนจ้องจับประเด็นเรื่องรักต่างวรรณะขึ้นมาตีความ
ชื่นชมความยอดเยี่ยมในการเกี่ยวร้อยเหตุการณ์ต่างเวลา
ภาษาแพรวพราวเปี่ยมจินตภาพจนเปรียบนวนิยายเรื่องนี้เหมือนสถาปัตยกรรมทางภาษาชั้นยอด
ทั้งปมปัญหาระดับครอบครัวที่สอดเกี่ยวเข้ากับระดับประวัติศาสตร์อินเดียก็ถูกก่อสร้างขึ้นอย่างประณีต
แยบยล และคมคาย
ทว่าภายใต้แบบแผนทางภาษาที่จัดเรียงแผนโศกนาฏกรรมทางประวัติศาสตร์นั้น
เวลุธา ชายวรรณะจัณฑาลไม่ใช่เทพเจ้าแห่งความสูญเสีย หรือเทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ตัวต้นเหตุและผลลัพธ์ของสิ่งทั้งหมดทั้งมวล
เรื่องนี้เอสธารู้ดี เพราะเขาคือผู้ถือใบเสร็จทางประวัติศาสตร์
คือต้นทุนของโศกนาฏกรรมแสนย่อยยับ
เอสธาคือผู้ถือกุญแจดอกสำคัญของเรื่อง
ก่อนที่จะเกิดผลลัพธ์แบบโดมิโนกับตระกูลตามมานั้น เอสธาได้ ‘พบเห็น’ กระบวนการแห่งความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนชาวอินเดีย
ที่คว้าจับความหวังได้เพียงสิ่งเล็กๆ (คนอ่านจะได้พบในบทที่หนึ่ง หน้า 2
เล่าผ่านทางแววตาของราเฮลเกี่ยวกับชีวิตสมรสของเธอ-คู่แฝดที่มีสัมผัสพิเศษสามารถอ่านใจกันได้)
ดังนี้
‘...วิหารแห่งความโกลาหลของผู้คนในประเทศกว้างใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง
ความสับสนวกวน ความบ้าคลั่ง ความชิงชังและความไร้สาระ
เทพเจ้าผู้ทรงอำนาจเห่าหอนราวลมร้อน เรียกร้องให้ผู้คนก้มกราบ
ส่วนเทพเจ้าผู้ไร้อำนาจ (อบอุ่น มีสติ เป็นส่วนตัว และจำกัดอยู่ในวงแคบ)
ถูกลนถูกจี้ ต้องถอยหนี งงงวย หัวเราะให้แก่จุดจบของตัวเอง
จนเมื่อชินกับความเล็กน้อยด้อยค่าของตนที่ผู้คนต่างยืนยัน
เขาจึงสามารถปรับกายปรับใจหมดความอาลัยไยดีได้อย่างแท้จริง...
แผ่นดินที่เธอจากมาทรงตัวอยู่ตลอดเวลาระหว่างความสยดสยองของสงคราม
กับความน่าพรั่นพรึงของสันติภาพ สิ่งเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา...
เคราะห์กรรมคือบ่อเกิดของความสุขสุดเปราะบาง มันคลานเข้าไปในดวงตาของผู้คน
กลายเป็นแววตาน่ารำคาญ’
นั่นคืออรรถาธิบายรวบยอดของภาพชีวิตผู้คนที่สะท้อนผ่านแววตาชาวอินเดียที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน
เป็นกุลี จากนั้นเอสธาจึงตกสู่กระบวนการ ‘เข้าถึง’ เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
ตนหนึ่งอันฝากบาดแผนสิ่งใหญ่ๆ ไว้กับตัวเขาจนลุกลามถึงคนในตระกูล
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ตัวแทนของคนอินเดียส่วนใหญ่ที่เป็นอยู่ คือ
ชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวแห่งโรงหนังอภิลาส ทัลกีส์ โรงหนังที่แวะหย่อนใจระหว่างจักโกขับรถเดินทางมารับมาร์กาเร็ต
จักโกมากับโซฟี โมลที่สนามบิน
ชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวคือสาเหตุของโศกนาฏกรรม
คือสาเหตุที่เอสธาไม่สื่อสารทางคำพูดกับใครมาตลอดชีวิต
และภายใต้โครงสร้างตัวบทของนวนิยาย (สถาปัตยกรรมทางภาษา)
ก็ดูประหนึ่งว่าจะเล่นกับการเร้นสาเหตุนี้ ไว้ในความลับดำมืดแห่งหัวใจของเอสธา
‘เธอ (ราเฮล) ยังจำเรื่องอื่นๆ ซึ่งเธอไม่มีสิทธิ์จะจดจำอีกด้วย เช่น
เธอจำได้ว่าเกิดอไรขึ้นกับเอสธา ตอนเขาอยู่กับชายขายน้ำส้มน้ำมะนาว
ที่โรงหนังอภิลาส ทัลกีส์ (ทั้งๆ ที่เธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์)...’
ตัวบทดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสัมผัสพิเศษสามารถอ่านใจกันได้ที่เอสธากับราเฮลมีต่อกันและกัน
ทั้งยังสะท้อนตำแหน่งที่ยืนของพวกเขาบนแผ่นดินอินเดียที่ผู้คนส่วนใหญ่ยากจน
(ซึ่งเมื่อมาร์กาเร็ต โกจัมมากับโซฟี โมลปรากฏตัว
ตำแหน่งคนตัวใหญ่ของคู่แฝดจะตกลงสู่คนตัวเล็กในอันดับต่อมา) สำคัญที่สุดอรุณธตี
รอย ยังจงใจเล่นเร้นกับตัวละครชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวอย่างเม้มมิดพลิกพลิ้ว
จงใจให้เขาเป็นความสำคัญที่แสนน้อยนิด ‘น้อยก็คือน้อย ไร้ความสำคัญ’
รอยพูดถึงชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวต่างวาระกันไปซึ่งผุดเผยขึ้นมาในสำนึกของเอสธาที่แสนกำกวม
ดังจะเห็นได้ในหน้า 36
‘แต่สิ่งเลวร้ายที่สุดที่เขา (เอสธา) นำไปด้วย
คือความทรงจำถึงชายหนุ่มแต่ปากเหมือนคนแก่ ความทรงจำถึงใบหน้าบวมเป่ง
ยิ้มคว่ำบนปากเละ
ปลักของเหลวใสที่สะท้อนหลอดไฟดวงหนึ่งกับนัยน์ตาแดงดั่งเลือดที่ทอดมองอย่างไร้จุดหมาย’
ความทรงจำ
(จงใจ) กำกวมอันเป็นภาพติดตาของเอสธานี้ หมายถึงได้ทั้งเวลุธา ผู้ถูกตำรวจรุมตีจนตาย
และชายขายน้ำส้มน้ำมะนาว ที่กระทำอนาจารต่อเอสธา
การจงใจหลบเร้นตัวละครสำคัญอันเป็นจุดเปลี่ยนนี้ รอยยังดำเนินต่อในย่อหน้าต่อๆ มา
ดังนี้
‘กระนั้น การที่จะพูดว่าทุกอย่างเริ่มต้นตอนที่โซฟี โมลมาที่อเยเมเน็มนั้น
เป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่อาจจะมองได้ หรือจะว่าไป จริงๆ
แล้วมันเริ่มต้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว...’ (หน้า 37)
รอยได้เล่นและเร้นกับถ้อยคำและความหมายเชิงคู่ขัดแย้งนี้อย่างแพรวพราว
ตามความตั้งใจของเธอที่ว่า
‘เหตุการณ์เล็กๆ สิ่งธรรมดาๆ
ที่ถูกกระหน่ำทำลายแล้วนำมาประกอบกันขึ้นมาใหม่ แต่งเติมความหมายใหม่ๆ
จนกลายเป็นโครงกระดูกขาวเป็นแกนของเรื่องราวทั้งหมด’ (หน้า
37)
ก็เพื่อชี้ให้เห็นและตอกย้ำว่า
ในดินแดนอันกว้างใหญ่ หลากผู้คนยากจนผู้ปรารถนาในสิ่งเล็กๆ และตัวตนของพวกเขาก็เป็นสิ่งเล็กๆ
ไร้ความสำคัญ แต่ดินแดนอินเดียก็อุดมด้วยเหล่าพวกเขา พวกเทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ
นัยหนึ่งก็คือพวกเขาคือเทพเจ้าที่สะท้อนผ่านตัวแทนอย่างเวลุธา-คนวรรณะจัณฑาลกับชายขายน้ำส้มน้ำมะนาว-
คนชั้นแรงงานของสังคม พวกเขาล้วนต่างเป็นกุลี เป็นบ่าว
แต่เป็นเจ้าของดินแดนแท้จริง
ใบต้นขั้ว
กับ ใบเสร็จ
อย่างที่แจกแจงมาข้างต้น
โศกนาฏกรรม ณ บ้านอเยเมเน็มได้เกิดขึ้น (ระดับครอบครัว) และลุกลามพาดเกี่ยวในระดับชุมชน
(สังคม) แต่ปฏิกิริยาพังภินท์แบบโดมิโนนี้ แม้ผู้ประพันธ์จะกล่าวอ้างว่า ‘หรือจะว่าไป จริงๆ
แล้วมันเริ่มต้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว...’
แต่ภายใต้การจัดวางโครงสร้างเหตุการณ์อย่างซับซ้อนสอดรับในนวนิยาย เตรียมการเพื่อการพังทลายย่อยยับในท้ายที่สุดนั้น
อาจสร้างข้อกังขาได้ว่า หากเอสธาไม่ปะเหมาะกับชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวโศกนาฏกรรมเลวร้ายเชิงสัมพัทธ์นี้จะถึงคราวระเบิดขึ้นหรือไม่
ข้อกังขาที่ว่านี้สามารถมองเป็นกลุ่มโครงสร้างของเหตุการณ์ได้ 2 กลุ่ม
1.
กลุ่มภายในโครงสร้างของโศกนาฏกรรม
ประกอบด้วยตัวละครหลักทั้งหมด เอสธา, ราเฮล, อัมมู, เบบี้ โกจัมมา, จักโก,
มาร์กาเร็ต โกจัมมา, โซฟี โมล, มัมมาจี และเวลุธา ที่เมื่อโซฟี โมลตาย
ทั้งหมดก็ล่มสลายพังพาบตามกันไป
2.
กลุ่มนอกโครงสร้าง
(ที่กระจายตัวเป็นองค์ประกอบภูมิทัศน์ของชุมชน) คือ สหายเค. เอ็น. เอ็ม. ปิลไล
ตัวแทนสมาชิกพรรคมาร์กซิสต์ กับชายขายน้ำส้มน้ำมะนาว ทั้งสองปรากฏตัวในรูป ‘ตัวแทน’ ของสิ่งเล็กๆ ในเคราลา
ที่แปลงสภาพกลายเป็นเรื่องใหญ่ในกาลต่อมา
ในสองกลุ่มนี้
มี 2 คน ที่ชักมากลุ่มนอกโครงสร้างเข้ามาสู่กลุ่มภายในโครงสร้าง คือ เวลุธากับเอสธา
ฝ่ายแรกเป็นสมาชิกพรรคมาร์กซิสต์ของสหายเค. เอ็น. เอ็ม. ปิลไลอย่างลับๆ ส่วนฝ่ายหลังพบเจอประสบการณ์ที่ต้องปิดลับมิดชิดไปชั่วชีวิต
หากพิจารณาตัวโครงสร้างของนวนิยายแล้ว คำกล่าวที่ว่า ‘หรือจะว่าไปแล้ว จริงๆ
แล้วมันเริ่มต้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว...’
เป็นเพียงอรรถาธิบายโน้มนำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโศกนาฏกรรมนอกตัวบท
หมายความว่าหากไม่เกิดโศกนาฏกรรมนี้ที่บ้านอเยเมเน็ม มันก็ย่อมเกิดขึ้นที่อื่น
(ในอินเดีย) ไม่วาระใดก็วาระหนึ่ง ทว่าตัวบทกล่าวถึงการพังภินท์ลงที่บ้านอเยเมเน็ม
ดังนั้นเราจึงละเลย ‘การถูกกระทำ’ อันนำไปสู่การ
‘การกระทำอื่น’ ของเอสธาไปไม่ได้
ประเด็นนี้ผู้ประพันธ์ตระหนักดี ถึงความเป็น ‘คนต้นขั้ว’
และ ‘คนเก็บใบเสร็จทางประวัติศาสตร์’ ของเอสธา
ในวันที่เอสธานั่งรถของจักโกพร้อมกับราเฮล
อัมมู และเบบี้ โกจัมมา เดินทางไปรับมาร์กาเร็ต กจัมมา กับโซฟี โมล ที่สนามบิน
ก่อนสองแม่ลูกจากอังกฤษจะเดินทางมาถึงอินเดีย เอสธา ราเฮล อัมมู และเบบี้ โกจัมมา
ตัดสินใจดูหนัง มนต์รักเพลงสวรรค์ (The
Sound of Music) ที่โรงหน้าอภิลาส ทัลกีส์ ที่นี่เองต้นขั้วแห่งโศกนาฏกรรมได้ถูกวางลงในหลุมเสาหลักของโครงสร้างนวนิยาย
เอสธาถูกกระทำอนาจารอย่างต่ำช้าเมื่อชายขายน้ำส้มส้ำมะนาวหน้าโรงหนังลวงล่อให้น้ำมะนาวดื่มฟรีแก้วหนึ่งพลางตะล่อมถามว่าบ้านอยู่ไหน
ตระกูลทำกิจการอะไร ขณะเดียวกันข่มขู่อีกฝ้ายให้ใช้มือสำเร็จความใคร่ให้เขา
เรื่องต่ำช้าสนองตัณหาส่วนตัวแปลงสภาพเป็นบาปทางชนชั้น
ดังคำกล่าวของชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวที่ว่า
‘เอ้า ดื่มซะให้หมด คิดถึงคนจนๆ ที่ไม่มีอะไรจะกินจะดื่ม
นายโชคดีที่เกิดเป็นลูกของคนรวย มีเงินติดกระเปา
แล้วต่อไปยังจะได้โรงงานของคุณยายเป็นมรดก
นายควรจะขอบคุณพระเจ้าที่ไม่ต้องมีเรื่องกังวลใจ ดื่มซะ ดื่มให้หมด’ (หน้า 119)
ประสบการณ์เหลือรับที่เอสธาได้เจอนี้พุ่งขึ้นสู่ลำดับอันตรายถึงที่สุดเมื่อกลับเข้าโรงหนังและออกมาอีกครั้งกับอัมมู
เพราะเอสธาอยากเข้าห้องน้ำสำรอก เป็นเหตุให้พบชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวอีก
เขาโอ้โลมคำหวานกับอัมมูและเมื่อราเฮลตามออกมา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ก่อนกลับ
ชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวยังพูดเป็นนัยข่มขู่ไม่ให้เอสธาแพร่งพรายความลับอีกด้วย
ครั้งแรกพูดกับอัมมูว่า
‘ผมไปที่นั่นบ่อยๆ ...
ญาติฝ่ายภรรยาของผมเป็นชาวอเยเมเน็ม ผมรู้จักโรงงานของคุณ
โรงงานสวนสวรรค์ผักดองใช่มั้ยครับ...’ (หน้า 125)
ครั้งที่สองพูดกับเอสธาโดยตรง ‘สวัสดีครับคุณนายน้อย...
โอกาสหน้าลุงจะไปหาเธอที่อเยเมเน็ม’ (หน้า 127)
นี่เองเชื้อร้ายของสิ่งเล็กๆ
เข้าสู่ตัวตนของเอสธาก่อนการพังทลายลงของเขา
อันจะนำไปสู่การพังทลายลงของตระกูลและคนใกล้ชิดอย่างเวลุธา
อย่างแม่นมั่นและค่อยเป็นค่อยไป
ตัวบทโยงใจสัมผัสพิเศษของเด็กแฝดสองคน ณ จุดที่ซึ่งราเฮลจะเข้าร่วมกับเอสธา
ซับซาบบาดแผลของกันและกัน
ตอนราเฮลออกจากโรงหนังเธอจับสัญญาณกระอักกระอ่วนของเอสธาได้
เมื่ออัมมูกล่าวชมชายขายน้ำส้มน้ำมะนาวว่า น่ารักและดีต่อเอสธาอย่างน่าแปลกใจ
ราเฮลประชดอย่างทะลุกลางปล้องขึ้นว่า ‘แล้วทำไมแม่ไม่แต่งงานกับเขาเสียล่ะ’ นั่นเองราเฮลจึงได้รับผลของการถูกรักน้อยลงจากอัมมู
ดังนี้เองเธอจึงมีความขมขื่นใจและระเวงระวังภัยทัดเทียมกับเอสธาแล้ว
ราเฮลกังวลใจต่อพฤติกรรมของตัวที่อาจทำให้
ถูกรักน้อยลง ส่วนเอสธาว้าวุ่นกังวลใจดุจกันเมื่อรู้ว่าชายชายน้ำส้มน้ำมะนาวรู้ว่า
จะไปตามหาเขาได้ที่ไหน นี่เองทำให้เอสธาตระหนักถึงความคิดสองอย่างคือ
‘(ก) อะไรๆ อาจเกิดขึ้นกับใครๆ ได้ และ (ข) ทางที่ดี
ต้องเตรียมตัวไว้ให้พร้อม’ (หน้า 222)
นี่คือสองสัปดาห์ก่อนเกิดโศกนาฏกรรม
อีกเหตุการณ์หนึ่งได้เพิ่มความร้าวฉานขึ้น เมื่อเวลยา ปาเปน พ่อของเวลุธา
เมาแอ๋มาฟ้องมัมมาจีกับเบบี้ โกจัมมา ว่าเห็นความรักต้องห้ามของลูกชายตนกับอัมมู
เป็นเหตุให้อัมมูถูกจับขังไว้ในห้อง
เมื่อเอสธากับราเฮลไม่เข้าใจว่าแม่ถูกขังไว้ทำไม
เธอตวาดลูกแฝดอย่างไม่ระวังปากไปว่า
‘ก็เพราะพวกแก... ถ้าไม่มีพวกแกฉันจะไม่อยู่ที่นี่! จะไม่เกิดเรื่องอย่างนี้!
ฉันจะไม่อยู่ที่นี่! ฉันจะเป็นอิสระ! ฉันน่าจะโยนพวกแกไว้ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าตั้งแต่วันแรกที่แกเกิด
พวกแกเป็นหินถ่วงคอฉัน’ (หน้า 284)
นั่นเองทั้งเอสธากับราเฮลผู้มีต้นทุนแหงความกังวลใจอยู่เดิมแล้ว
จึงร่วมหัวจมท้ายตัดสินใจลี้ภัย ล่องเรือผ่านแม่น้ำมีนาจัลไปกบดานยังบ้านประวัติศาสตร์
แต่ที่เลวร้ายคือโซฟี โมล
เด็กน้อยผู้ขออาศัยติดตามมาด้วยต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าใจ
หลังจากนั้นกลุ่มโครงสร้างที่ 1 ก็ถึงแก่พังภินท์ลง
แปลงถ่ายสถานภาพ
วิธีทำเทพเจ้าให้เป็นสิ่งเล็กๆ
พลเมืองอินเดียยังคงถูกจำกัดบทบาทของตนด้วยสถานภาพทางชนชั้นวรรณะ
ซึ่งประกอบด้วย 1. กษัตริย์ พวกเจ้าชนชั้นสูง . พราหมณ์ พวกศึกษาเล่าเรียน 3.
แพศย์ พวกพลเรือนคนสามัญ 4. ศูทร พวกชั้นต่ำหรือกรรมกร
ในกรณีของเวลุธาจัดเป็นอีกวรรณหนึ่งคือ จัณฑาล
เป็นพวกที่กำเนิดมาจากการแต่งงานและอยู่กินกันข้ามชั้นวรรณะของบุพการี พวกจัณฑาลนี้ถือเป็นกลุ่มน่ารังเกียจที่สุด
เป็นพวกที่ไม่ควรแตะต้อง (Untouchable) เพราะเป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล
ในประเทศกว้างใหญ่อย่างอินเดีย
ประชากร ‘ส่วนใหญ่’
อยู่ในวรรณะแพศย์และศูทร (รวมทั้งจัณฑาล) ขณะที่ประชากร ‘ส่วนน้อย’
ในวรรณะกษัตริย์กับพราหมณ์จะเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดทางสังคม
ตระกูลของเอสธากับราเฮลจัดอยู่ในกลุ่มนี้
พวกเขามองประชากรที่มีอยู่ค่อนประเทศว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย ด้อยค่า และไร้ความสำคัญ
นี้คือความย้อนแย้งทางมุมมองที่ผู้ประพันธ์ชี้ชวนให้พิจารณา กระทั่งชื่อนวนิยาย
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ ก็แฝงนัยดังกล่าวอย่างเต็มเปี่ยม
มากไปกว่าการชี้ชวนให้พิจารณาความย้อนแย้งดังกล่าวแล้ว
โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับคนในตะกูลชนชั้นกลางอันนำมาซึ่งความย่อยยับอับปางยังแฝงนัยของการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางชนชั้นวรรณะทที่ต่ำลงของคนในตระกูลอีกโสตหนึ่งด้วย
ต่ำลงในที่นี้หมายชี้ให้เห็นความเสมอภาคทัดเทียมกันของผู้คน
ผู้เขียนบทความจะขอเรียกกระบวนการเปลี่ยนถ่ายนี้ว่า วิธีทำให้เทพเจ้าเป็นสิ่งเล็กๆ
ซึ่งวิธีการดังกล่าว เอสธากับราเฮล
คนรุ่นสุดท้ายของตระกูลได้เผชิญหน้าเรียนรู้และตระหนักถึงตำแหน่งที่ยืนของตนผ่านประสบการณ์สะเทือนใจนี้
ผ่านสำนึกรู้เห็นของเอสธา
คนอ่านได้ตระหนักว่า คนไร้ค่าผู้ปราถนาเพียงสิ่งเล็กๆ มีอยู่ทุกหัวระแหงในเคราล่า
เมื่อเทียบกับตำแหน่งยืนของเขาในตระกูลชนชั้นกลางถือว่าดีกว่ามาก
แต่ในความเป็นจริง สถานภาพของเอสธา ราเฮล
กับอัมมูแม่ของเขาถือว่าอยู่ปลายแถวทางลำดับชั้นในตระกูล เพราะอัมมูล้มเหลวในชีวิตสมรส
พาลูกๆ กลับมาอาศัยบ้านของตระกูล
อีกทั้งยังเป็นผู้หญิงซึ่งมรดกประจำตระกูลนั้นจะตกทอดเป็นของลูกผู้ชาย
เธอจึงอยู่ในสถานะตราบาปและเรื่องเสื่อมเสียของตระกูลที่จะไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์ใดๆ
เลย เธอกับลูกแฝดเป็นเพียงผู้อาศัยชั่วคราว
มองจากนอกตระกูล
ทั้งสามชีวิตมีสถานะเป็นนาย (คนใหญ่) ผู้คนตามถนนรนแคมเป็นกุลี (คนเล็ก)
มองจากในตระกูลมัมมาจี
เบบี้ โกจัมมา จักโก (และตามการสมทบของมาร์กาเร็ตกับโซฟี โมล) คือคนใหญ่ ส่วนอัมมู
เอสธา ราเฮลคือ คนเล็ก
สถานภาพยักย้ายไปมานี้
เอสธาจะตระหนักได้เป็นคนแรกว่า แท้จริงแล้วไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด
เขาก็คือคนตัวเล็กอยู่วันยันค่ำ วันที่เขาเข้าใจได้นี้ก็คือ ณ โรงหนังอภิลาส
ทัลกีส์แหล่งชุมนุมของคนสามัญ ‘เอสธา
คนเล็ก ในกองคาราวาน ถั่ม ทัม’ (หน้า 112)
นัยความหมายของกองคาราวานนั้นเปรียบเป็นภาพ 2 ชุด หนึ่งคือ ภาพกองขบวนคนใช้แรงงานผู้ฝักใฝ่ลัทธิมาร์กซิสม์ที่ได้พบเจอก่อนมาถึงโรงหนัง
สองคือ ภาพชุมนุมชนในโรงภาพยนตร์คลาคล่ำ ภาพทั้ง 2 ชุดคือ
กลุ่มคนสถานภาพเดียวกันส่วนใหญ่ในอินเดีย
เมื่อเอสธาเริงใจจนห้ามตัวเองไม่ให้ร้องเพลงในโรงหนังไม่ไหว
ผู้คนต่างไม่พอใจออกปากขับไล่ให้เขาออกไป ‘ผู้ชมคือคนใหญ่ เอสธาคือคนเล็ก ที่มีบัตรเข้าชม’
(หน้า 114) ความรู้ซึ้งถึงความเป็นคนตัวเล็กของตนนี้เอง
ยังแฝงความถึงยินดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของฝูงชน ด้วยเวลุธา
บ่าวผู้สนิทชิดเชื้อดับเอสธากับราเฮล ปรากฏตัวในกองคาราวานมาร์กซิสม์นั้นด้วย
เวลุธาจึงเป็นภาพแทนที่โยงใจเขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองคาราวาน
เมื่อเอสธาถูกกระทำอนาจารจากชายขายน้ำส้มน้ำมะนาว
ข้อบรรลุถึงความเป็นคนตัวเล็กก็สัมบูรณ์ เขาเป็นคนตัวเล็กไม่ว่าจะยืนอยู่ตำแหน่งใด
ทั้งในท่ามกลางฝูงชน ทั้งในบ้านของตระกูล ไม่มีตำแหน่งใดช่วยเขาได้อีกแล้ว
เขาจึงบ่ายหน้าล่องเรือสู่บ้านประวัติศาสตร์ บ้านซึ่งเวลุธานัดพบพลอดรักกัมอัมมู ณ
บ้านซึ่งเป็นภาพแทนของเวลุธา-คนเล็กๆ ในกองคาราวานมาร์กซิสต์ เพื่อพบทางรอด
เอสธาตัดสินใจเปลี่ยนสภาพตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคนตัวเล็กในกองคาราวาน ดังจะเห็นได้ในบทสนทนาสนุกนึกตามประสาเด็กวัย
7 ขวบระหว่างเอสธากับราเฮลก่อนล่องเรือออกเดินทาง
‘ ‘แล้วเราจะเป็นคอมมิวนิสต์กันรึ’ ราเฮลถาม
‘อาจจะ’
เอสธา-นักปฏิบัติ
สหายราเฮลจะไปนอนตอนบ่ายแสร้งทำเป็นหลับจนกว่าอัมมูจะหลับไปจริงๆ
สหายเอสธาจะหาธง
(ที่เบบี้ โกจัมมาถูกบังคับให้โบก) แล้วไปรอเธอที่แม่น้ำ จากนั้นพวกเขาจะ
(ข) เตรียมตัว
เตรียมตัว ไว้ให้พร้อม’ (หน้า 228)
ด้านอัมมูเองก็มีบทบาทไม่แพ้กัน
เธอเป็นนักรวมวรรณะ เป็นเฟมินิสต์ตัวยง ผู้บ่อนทำลายความมั่งคั่งผาสุกทางชนชั้น
แม้จะไม่รู้ถึงผลที่ใหญ่เกินตัว อย่างไรก็ตาม
เพราะความปรารถนาคือต้องการสิ่งที่ดีกว่าให้กับตัวเองและลูกๆ ของเธอ เพียงเท่านั้น
แม้จะขัดกับข้อพึงปฏิบัติทางสังคม แม้จะกลายเป็นตัวคนเล็กอย่างไรก็ตาม
อัมมูแต่งงานกับบับบา
ชายติดเหล้าไม่เป็นโล้เป็นพาย ให้กำเนิดเอสธากับราเฮล
พฤติกรรมน่าชิงชังของบับบาคือชอบทุบตีภรรยา แต่หนักเข้าเขาเริ่มทำร้ายลูกๆ
เป็นสิ่งที่อัมมูไม่อาจทนได้อีกต่อไป เธอจึงหย่าขาดจากสามี
หอบลูกกลับสู่บ้านอเยเมเน็ม พฤติกรรมนี้ของอัมมูถือเป็นเรื่องผิดแผกในสังคมอินเดีย
และโดยสายตาของคนในตระกูลแล้วเธอจะไม่มีวันได้รับสิทธิ์ใดๆ
ต่อผลแห่งการเกิดเป็นเพศหญิงนี้ อัมมูตอบว่า ‘ก็เพราะสังคมสุดยอดเยี่ยมของเรา หลงยกย่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่น่ะสิง (หน้า
65) ยิ่งกว่านั้นเธอยังกล้าเปิดผ้าคลุมโครงสร้างทางลำดับชั้นอำนาจ
อันเผยให้เห็นว่า แม้ตระกูลของเธอจะเป็นคนใหญ่ในอเยเมเน็ม แต่ก็คงเป็นคนเล็กในฐานะบ่าวรับใช้ทางจักรวรรดิอยู่ดี
โดยกล่าวว่าพ่อของเธอ ‘ปัปปาจีเป็น
ข.ข. (ขี้ข้า) ของชาวอังกฤษ’ (หน้า 58) และจักโก
พี่ชายของเธอผู้จบอ็อกซ์ฟอร์ด (และเคยประกาศว่าเป็นมาร์กซิสต์)
ก็อยู่ในสถานะไม่ต่างกันเท่าไร แม้มัมมาจีจะชื่นชมว่า
จักโกเป็นคนเก่งที่สุดคนหนึ่งในอินเดีย สำหรับอัมมูแล้วมันไม่ได้พิสูจน์อะไร
จักโกก็แค่คนไร้อุดมการณ์ กลับกลอก ผู้สามารถตักตวงผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ‘เป็นเรื่องของเจ้าชายนิสัยเสีย ที่หันมาเล่นบท สหาย!
สหาย! เป็นวิธีคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย
ทีอวตารมาในคราบของบัณฑิตอ็อกซ์ฟอร์ด-เจ้าที่ดินผู้หมกมุ่นอยู่กับผู้หญิงที่ต้องพึ่งพาอาศัยเขา’ (หน้า 74)
อัมมูรู้ซึ้งถึงการไม่ได้รับสิทธิ์และสภาพคนตัวเล็กของตนในตระกูลดี
เธอจึงทำตัวเป็นนักรื้อโครงสร้างอำนาจด้วยยั่วล้อ ท้าทาย ประชดประชัน
ให้คนในตระกูลขุ่นรำคาญเรื่อยมา
วันที่มาร์กาเร็ตกับโซฟีเดินทางมาถึงบ้านอเยเมเน็ม
คือภาพแทนของคนใหญ่ชาวอังกฤษเดินทางมาถึง
แลคนเล็กในตะกูลต่างปวารณาตัวรับใช้เป็นพัลวัน มัมมาจีที่แก่ชราและตาบอดแล้ว
ออกมาต้อนรับผู้ดีด้วยการสีไวโอลินให้ฟัง ส่วนโกจู
มาเรียคนใช้เตรียมเค้กไว้ต้อนรับอยู่ในห้องครัว
ความจริงอันร้าวฉานแสดงตัวอย่างชัดเจนในชั่วขณะทุกๆ
คนต้อนรับการมาถึงของสองแม่ลูกจากลอนดอน อัมมูผู้ร่วมอยู่ในเวที ‘การแสดง’ สิ้นสุดความอดทนเมื่อเห็นสถานภาพสองอย่างบนเวที
นายกับบ่าว ผู้มีวัฒนธรรมกับบ้านนอก คนใหญ่กับคนเล็ก ที่น่าช้ำใจไปกว่านั้นคือ
คนในตระกูลต่างสมยอมอย่างยินดีที่จะเล่นเป็นบ่าว
ดังกับว่าเป็นบทบาทดั้งเดิมของตนแต่เนิ่นนานมา จุดสิ้นสุดนั้นคือตอนโกจู
มาเรียทักทายคุณหนูโซฟีตามธรรมเนียมพื้นถิ่น
ด้วยการสัมผัสมือและจูบซึ่งผู้มีวัฒนธรรมจากลอนดอนไม่อาจเข้าใจได้
หนูน้อยโซฟีสงสัย ส่วนมาร์กาเร็ตนั้นฉงนใจ ถึงแก่ขาดการยังยั้บไม่ระวังคำพูด ‘น่าทึ่งจริง!... นี่มันดมกลิ่นกันชัดๆ! ที่นี่ผู้ชายกับผู้หญิงเขาทำกันอย่างนี้หรือคะ’
นั่นเองที่อัมมูได้แสดงตัว ‘อ๋อ ตลอดเวลา!...ที่เรามีลูกกัน ก็เพราะทำอย่างนี้ล่ะค่ะ’ (หน้า
203)
แต่ที่อัมมูไม่ได้บอก
ทว่าภายหลังถูกเปิดโปงก็คือ เธอทำอย่างนี้กับเวลุธา เธอ ‘สัมผัส’
กับคนที่ไม่ควรจะถูกสัมผัส เช่นเดียวกับเอสธาและราเฮล
ต่างก็สัมผัสสัมพันธ์กับคนและสิ่งที่ไม่ควรจะถูกสัมผัสเช่นกัน
ในสายตาของคนในตระกูล
สามแม่ลูก นำคนเล็กๆ ไม่ควรสัมผัสเข้ามาผ่านตัวแทนอย่างเวลุธา
คนต่ำชั้นวรรณะและคอมมิวนิสต์ ที่ได้ทำลายความผาสุกทางสังคมในรูปแบบเดิมลง
(คริสต์นิกายซีเรียในเคราล่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมั่งคั่งฐานะดีและมีการศึกษา)
ก่อนจะถูกรื้อถอนแทนที่ด้วยมุมมองแบบใหม่ (พรรคคอมมิวนิสต์-เฉพาะอย่างยิ่ง
พรรคซีพีไอ (เอ็ม) หรือขบวนการนาซัล ก่อความไม่สงบของกบฏชาวนา
กับผู้มีวรรณะต่ำเตี้ย เรียกร้องความเสมอภาคด้วยวิธีรุนแรง
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการศึกษาและปัญญาชน) เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องใหญ่
หรืออาจจะมองว่า เรื่องใหญ่ๆ (ที่มองต่างมุมกัน) ทำให้เห็นเป็นเรื่องเล็กๆ
มากกว่านั้นคือ การยักย้ายกลายกลับทางสถานภาพของตัวละคร ทั้งยังมีนัย
กลับนอกกลับในเชิงโครงสร้างทางภาษาอีกด้วย
ความตายของคนสองคนในปี
1969 คือ เวลุธา กับ โซฟี โมล คือความตายลงของภาพแทนที่ต่างกันสองขั้ว
ฝ่ายหนึ่งคือจัณฑาล ฝ่ายหนึ่งคือเจ้าจักรวรรดิ ที่ทำคลอดการล่มสลายลงโดยสามแม่ลูก
(ผู้มีสถานภาพคนตัวเล็กในท้ายที่สุด) ล่วงผ่านไป 23 ปี
ผู้ที่เกี่ยวข้องกระจัดพลัดพรายและล้มหายตายจาก
ผู้คนนอกตระกูลเองก็ถึงแก่กาลลืมเลือนบ้านอเยเมเน็มที่เคยโอ่อ่าเก่าแก่กลับรกร้างทรุดโทรม
เหลือเพียงเอสธากับราเฮลที่สื่อสารถึงกันไม่ผ่านภาษาพูด
รำลึกย้อนถึงโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นจากส่วนเสี้ยวชิ้นเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย
นำมาประกอบขึ้นใหม่ ต่างรู้ซึ้งอยู่แก่ใจว่าตนก็เป็นหนึ่งในส่วนเสี้ยวเล็กๆ
เหล่านั้น สิ่งเล็กๆ ที่บัดนี้ได้ทัดเทียมกันแล้วทุกผู้คน
ความเล็กจ้อยของความสุขสุดเปราะบาง ล้วนต่างเป็นเจ้าของกันคนละหยิบมือ
(ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น) ในดินแดนอันไพศาลแห่งอินเดีย
ผู้คนเล็กๆ
ในดินแดนเทพเจ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น